วัดน่าเที่ยวเกี่ยวกับราชวงศ์จักรีและสมัยรัตนโกสินทร์ ในพระนครศรีอยุธยา

ท่องเที่ยว

แม้พระนครศรีอยุธยาจะสิ้นสถานะสภาพความเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่พุทธศักราช 2310 เป็นต้นมา แต่การกลับมาใช้งานและพัฒนาเมืองขึ้นอีกครั้งยังคงมีในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏว่ามีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ รวมไปถึงการสร้างวัดขึ้นใหม่จำนวนหนึ่ง ในวันนี้ เราจึงพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวัดเหล่านี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลไว้สำหรับท่องเที่ยวตามรอยและจะได้รู้ว่าวัดเก่าแก่ที่มีมากมายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้มีแต่วัดร้างวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา 

  1. วัดใหม่ไชยวิชิต เป็นวัดที่สร้างขึ้นและให้นามตามราชทินนามของผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระยาไชยวิชิต ที่จะเป็นทินนามของผู้รักษาราชการกรุงเก่าหรือพระนครศรีอยุธยาแทบทุกคน ตัววัดตั้งติดกับส่วนพระบรมมหาราชวังสมัยอยุธยา ทางทิศเหนือของเกาะเหนือ ภายในวัดยังคงเหลือเจดีย์ย่อมุมยกฐานสูงเป็นประธาน และมีพระอุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่เบื้องหน้า สภาพในปัจจุบันภายหลังผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร สวยงามและนับเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ควรเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก
  2. วัดสุวรรณดาราราม ตั้งอยู่ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แถวป้อมเพชร มีความสำคัญเนื่องมาจากบริเวณวัดนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ของสายตระกูลราชวงศ์จักรีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 สืบเนื่องมาจนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงแล้วเสร็จ ภายในวัดยังคงเหลือหลักฐานที่วิจิตรงดงามทั้งพระอุโบสถและพระวิหารเก่าที่มีภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร ช่างเขียนภาพฝีมือดีสมัยนั้น นับเป็นสถานที่ที่ควรชมและตามรอยเพื่อระลึกถึงรากเหง้าสายสัมพันธ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
  3. วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร นับเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีเชื่อวัดเสือ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ในปัจจุบันคงปรากฏหลักฐานทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอันงดงามหลายประการในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่น พระอุโบสถและวิหารที่มีลักษณะตามอย่างศิลปกรรมในรัชสมัยของพระองค์อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงภาพจิตรกรรมวาดภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตตามแต่ละเทศกาลและฤดูกาลที่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระเจ้าอินแปลง” พระพุทธรูปสำริดตามอย่างศิลปะลาวที่ได้อิญเชิญมาจากประเทศลาวในช่วงสมัยนั้นอีกด้วย จึงนับว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญและเหมาะสมต่อการไปท่องเที่ยวเยี่ยมชมความสวยงามของงานศิลปกรรมรัตนโกสินทร์และตามรอยประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก